การวิจัยในชั้นเรียน: หลักการและตัวอย่าง

ดร .ไพจิตร สดวกการ และ ดร.ศิริกานต์ โกสุมภ์

ความหมายและการพัฒนา <== คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่

ตัวอย่างที่ 1 การวิจัยเรื่อง การใช้แบบฝึกในการพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความ ของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โดย นางจันฑิตา กุศลวัฒนะ อาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนอนุบาลเมืองอุทัยธานี สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองอุทัยธานี สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุทัยธานี

ตัวอย่างที่ 2 การวิจัย เรื่อง การพัฒนา การคิดของนักเรียน ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 ของนางอุไร เที่ยงอยู่ อาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนบ้านวังทับยา สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองพิจิตร สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร

ตัวอย่างที่ 3 รายงานการศึกษาเด็กเป็นรายกรณี เด็กหญิงเตย (จันทรารัตน์) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของนางสิริมา กลิ่นกุหลาบ อาจารย์ 3 ระดับ 9 โรงเรียนวัดไทรใหญ่ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอไทรน้อย สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนนทบุรี ครูต้นแบบสำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542

ตัวอย่างที่ 1 การวิจัยเรื่อง การใช้แบบฝึกในการพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความ ของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โดย นางจันฑิตา กุศลวัฒนะ อาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนอนุบาลเมืองอุทัยธานี สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองอุทัยธานี สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุทัยธานี

ข้อมูลพื้นฐานของผู้วิจัย : นางจันฑิมา กุศลวัฒนะ เป็นผู้ที่เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน หลายครั้ง และตัดสินใจทำวิจัยในชั้นเรียนเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียนและ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยในชั้นเรียนหลายท่าน

วิธีการคิดและขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียน ของนางจันฑิมา กุศลวัฒนะ ดำเนินการดังนี้
  1. ปัญหาในการวิจัย ในการวัดผลระหว่างภาคเรียนและปลายภาคเรียนที่ 1 ผู้สอนพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 / 1 ส่วนใหญ่ขาดทักษะในการอ่านจับใจความในวิชาภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่สามารถเล่าเรื่องราวหรือปะติดปะต่อ เรื่องราวที่อ่านได้ถูกต้อง
  2. สาเหตุของปัญหา ผู้สอนหาสาเหตุของปัญหา พบว่า นักเรียนยังขาดแบบฝึกทักษะในการอ่าน จับใจความวิชาภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับวัยและความต้องการของผู้เรียน
  3. การแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา ผู้สอนศึกษาแนวคิดและหลักการสอนอ่านจับใจความวิชาภาษาอังกฤษจาก Internet สรุปเป็นแนวทาง ในการสร้างแบบฝึกหัดการอ่านจับใจความและการฝึกอ่านจับใจความ ดังนี้
    • แบบฝึกหัดการอ่านจับใจความต้องใช้คำศัพท์ที่นักเรียนคุ้นเคย
    • การฝึกฝนการอ่านต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็กและควรฝึกทุกวัน
    • ควรมีภาพประกอบในแบบฝึกหัดที่ให้อ่าน
    • ควรให้นักเรียนอ่านเรื่องที่มีความสนุกสนาน
  4. การพัฒนานวัตกรรม ผู้สอนได้สร้างแบบฝึกการอ่านจับใจความโดยดัดแปลงจากหนังสือ Preparatory Comprehension for Primary One Book 4 ของ Casco Publications Pte Ltd. ซึ่งมีทั้งหมด 63 เรื่อง ผู้สอนเลือกมา 20 เรื่อง โดยพิจารณาจากแนวทางในการสร้างแบบฝึกการอ่านจับใจความและการฝึกอ่านจับใจความข้างต้น แล้วนำมาสร้างเป็นแบบฝึกการอ่านจับใจความ และพิสูจน์ประสิทธิภาพของนวัตกรรม โดยขอความร่วมมือ จากครูที่สอนวิชาภาษาอังกฤษ ศึกษานิเทศก์อำเภอและศึกษานิเทศก์จังหวัด ให้ช่วยอ่านเนื้อหาและตรวจสอบ ความเหมาะสมกับปัญหาของกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 แล้วผู้สอนนำความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เหล่านั้นมาปรับปรุงแบบฝึก
  5. การนำนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาผู้เรียน ผู้สอนนำแบบฝึกที่สร้างขึ้นมาใช้ฝึกนักเรียนทุกคนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 ในภาคเรียนที่ 2 เพราะต้องการให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านจับใจความวิชาภาษาอังกฤษดีขึ้น
  6. ผลการใช้นวัตกรรม ผู้สอนได้ศึกษาผลการใช้นวัตกรรม 4 ด้าน คือ
    1. คะแนนการสอบย่อยของนักเรียนขณะทำแบบฝึกหัด พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถในการอ่านจับใจความดี
    2. คะแนนผลการอ่านจับใจความของนักเรียนหลังการเรียน พบว่า ความสามารถในการอ่านจับใจความของนักเรียนอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างดี
    3. การศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมการอ่านจับใจความ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อกิจกรรม โดยเฉพาะในการที่สามารถตั้งชื่อเรื่องที่อ่านได้เอง การมีภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เนื้อหาสนุกสนานเหมาะกับวัยเด็ก
    4. การสังเกตความสนใจของนักเรียนที่มีต่อการทำกิจกรรมฝึกทักษะการอ่านจับใจความ พบว่า ในระยะแรกนักเรียนสนใจร่วมทำกิจกรรม แต่ตอนหลังเมื่อแบบฝึกยากขึ้น นักเรียนเริ่มลดความสนใจในบทเรียนแต่ยังร่วมในกิจกรรมที่ครูจัดขึ้น

การจัดทำรายงานการวิจัย ผู้สอนได้จัดทำรายงานการแก้ปัญหาการสอนอ่านจับใจความ วิชาภาษาอังกฤษ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชื่อเรื่อง: รายงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้แบบฝึกในการพัฒนาทักษะการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 6/1

เนื้อหาที่เขียนในรายงานการวิจัยผู้วิจัยนำเสนอเป็นหัวข้อตามลำดับ ดังนี้
  • การสะท้อนความคิดก่อนปฏิบัติการ
  • วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
  • การวางแผนการปฎิบัติการ
  • การปฏิบัติการศึกษาทดลอง
  • การนำเสนอผลการทดลอง
  • สรุปและอภิปรายผลการทดลอง
  • อ้างอิง
  • ภาคผนวก
    - แบบฝึกการอ่านจับใจความ 20 ชุด

บทวิเคราะห์ของผู้เขียน : จุดเด่นของงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ที่ความพยายามของครู ที่จะนำนวัตกรรมที่มีหลักการในการสร้าง มารองรับ มีการศึกษาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องแบบฝึกอย่างกว้างขวางและทันสมัยใช้ในการพัฒนางาน งานเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของการพัฒนานวัตกรรมโดยมีแนวคิดที่เหมาะสมมารองรับ

กลับหน้าบ้านครูไผ่ กลับหน้าเดิมกดปุ่ม Back ที่เมนูบาร์ ความรู้ความเห็นเพิ่ม

ตัวอย่างที่ 2 การวิจัย เรื่อง การพัฒนา การคิดของนักเรียน ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 ของนางอุไร เที่ยงอยู่ อาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนบ้านวังทับยา สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองพิจิตร สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร

ข้อมูลพื้นฐานของผู้วิจัย : นางอุไร วังทับยา เป็นผู้ที่สนใจในการคิดค้นหาวิธีการสอนที่เหมาะสมเพื่อที่จะนำมาใช้ในการพัฒนานักเรียน ในแต่ละด้าน และเป็นครูคนแรกที่ประกาศเผยแพร่ผลงานการวิจัยในชั้นเรียนของตนเอง ในวารสาร "สานปฏิรูป" ซึ่งทำให้ผู้เขียนสนใจและได้รับรายงานฉบับนี้มา นางอุไร วังทับยา เขียนว่า " ดิฉันได้จัดทำ รายงานการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเรื่อง " การพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 " ขึ้น (โดยไม่ยึดรุปแบบการวิจัย) "

วิธีการคิดและขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียน ของนางอุไร วังทับยา ดำเนินการดังนี้
  1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ในช่วงสัปดาห์แรกของการเรียนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผู้สอน ค้นพบว่านักเรียนมีความคุ้นเคยกับการเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือเรียนสำเร็จรูปที่ซื้อจากสำนักพิมพ์ เพราะ เวลาที่ครูเข้าห้องสอนนักเรียนจะเปิดหนังสือเรียนทันที และมีความกล้าแสดงออกน้อยมาก นักเรียนส่วนใหญ่ ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด เวลาครูถามจะพูดตะกุกตะกัก ขาดความต่อเนื่อง เวลาที่ ครูสอนโดยให้นักเรียนฝึกปฏิบัติ นักเรียนไม่กล้าลงมือทำ ไม่สามารถคิดตัดสินใจเองได้ ครูต้องบอกให้ทำตาม ทีละขั้น ไม่คุ้นเคยกับการทำงานกลุ่ม
  2. สาเหตุของปัญหา ผู้สอนหาสาเหตุของปัญหา พบว่า นักเรียนขาดทักษะในการคิด และขาดทักษะในการทำงานร่วมกันเป็น กลุ่ม
  3. การแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา ผู้สอนศึกษาหลักการและแนวคิดจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง คือ
    3.1 แนวทางในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2533)
    3.2 นโยบายการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
    3.3 แผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 8 ( พ.ศ.2540 - 2544) ของ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
    3.4 แนวคิดเรื่องการสอนให้เด็กคิด
    หลังจากศึกษาเอกสารแล้ว ผู้สอนได้สรุปเป็นความคิดของตนเองว่าต้องการพัฒนาการคิดของนักเรียน ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต โดยการส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนา การคิดแบบต่าง ๆ โดยเริ่มนำสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กมาเป็นเนื้อหาในการสอนที่เชื่อมโยงไปสู่การคิด
  4. การพัฒนานวัตกรรมและผลการใช้นวัตกรรม ผู้สอนได้สร้างนวัตกรรม แบบฝึกคิด ฝึกเขียน ฝึกเรียนที่บ้าน โดยดำเนินการดังนี้
    4.1 การวางแผนดำเนินงาน ( Planning )
    1) เข้ารับการอบรมโครงการพัฒนาบุคลากรแกนนำเพื่อเป็นต้นแบบการปฏิรูปการ เรียนรู้ของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพิจิตร
    2) สังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และบันทึกผล การสังเกต
    4.2 การปฏิบัติการในชั้นเรียน ( Action )
    ทำแบบฝึกคิด ฝึกเขียน ฝึกเรียนที่บ้านโดยออกแบบเป็นแผ่นกระดาษเปล่าและให้นักเรียนร่วมสร้างแบบฝึกกับครู โดยครูตั้งคำถามในเรื่องที่นักเรียนอยากรู้ แล้วให้นักเรียนนำกลับไปฝึกคิดที่บ้าน ร่วมกับบุคคลในครอบครัวทุกวันตลอดปีการศึกษา 2543
    4.3 การสังเกตประเมินผล (Observation )
    1) ในท้ายชั่วโมงการสอนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตครูซักถามให้นักเรียน สะท้อนความคิดจากคำถามที่นำกลับไปคิดที่บ้านร่วมกัน ครูสังเกตการร่วม อภิปราย และจดบันทึก พบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะรับแบบฝึกคิด ฝึกเขียน ฝึกเรียนที่บ้านไปปฏิบัติ
    2) การฝึกคิดในช่วงแรกนักเรียนยังขาดทักษะในการคิด การเขียน จะตอบคำถามไม่ตรงประเด็น ผู้สอนนำ ประเด็นนี้มาร่วมคิดวิเคราะห์กับนักเรียนในห้อง และเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขให้นักเรียน ในช่วงหลัง กระบวนการคิดของนักเรียนดีขึ้น มีการพัฒนาการเขียนหนังสือ การตอบคำถามที่ตรงประเด็น มากขึ้น
    3) สิ่งที่ผู้สอนสังเกตพบจากพฤติกรรมการสนใจแบบฝึก คือ นักเรียนหลายคนชอบวาดภาพ ระบายสี ลงใน แบบฝึกคิด ฝึกเขียน ฝึกเรียนที่บ้าน
    4.4 การสะท้อนผลการปฏิบัติ (Reflection)
    1) มอบหมายให้นักเรียนรวบรวมความคิดที่กลุ่มเพื่อนแสดงความคิดเห็นร่วมกัน จัดทำเป็นรายงาน
    2) สิ้นปีนำผลงานของนักเรียนมาจัดแสดงให้ผู้ปกครองนักเรียน เพื่อนนักเรียน คณะครูในโรงเรียน และผู้ที่ สนใจเข้าชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

5. การจัดทำรายงานการวิจัย ผู้สอนได้จัดทำรายงานการพัฒนาการคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชื่อเรื่อง : รายงานการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน เรื่อง การพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5

เนื้อหาที่เขียนในรายงานการวิจัย : ผู้เขียนนำเสนอเป็นหัวข้อตามลำดับ ดังนี้
  • ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
  • การวางแผนการดำเนินงาน
  • การปฏิบัติการในชั้นเรียน
  • การสังเกตประเมินผล
  • การสะท้อนผลการปฎิบัติงาน
  • สารบัญตาราง
  • ภาคผนวก
    - แบบฝึกคิดฝึกเขียนฝึกเรียนที่บ้านแลละแบบประเมินต่าง ๆ
  • รายงานผลการจัดนิทรรศการของนักเรียน

บทวิเคราะห์ของผู้เขียน : งานวิจัยเรื่องนี้ผู้วิจัยเป็นผู้ที่มองเห็นปัญหาการไม่กล้าคิดหรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของนักเรียน จึงได้ จัดทำแบบฝึกคิด ฝึกเขียน ฝึกเรียนที่บ้านขึ้น ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ที่พยายามให้ผู้ปกครองเข้ามามี ส่วนร่วมในการทำการบ้านกับนักเรียน และพยายามทำวิจัยเรื่องนี้โดยนำกระบวนการ P A O R ที่มี นักวิชาการหลายท่านเสนอแนะให้เป็นกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนมาใช้

กลับหน้าบ้านครูไผ่ กลับหน้าเดิมกดปุ่ม Back ที่เมนูบาร์ ความรู้ความเห็นเพิ่ม

ตัวอย่างที่ 3 รายงานการศึกษาเด็กเป็นรายกรณี เด็กหญิงเตย (จันทรารัตน์) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของนางสิริมา กลิ่นกุหลาบ อาจารย์ 3 ระดับ 9 โรงเรียนวัดไทรใหญ่ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอไทรน้อย สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนนทบุรี ครูต้นแบบสำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542

ข้อมูลพื้นฐานของผู้วิจัย : นางสิริมา กลิ่นกุหลาบเป็นครูที่มีผลงานการศึกษาเด็กเป็นรายกรณีค่อนข้างมากและเป็นผู้ที่ทำวิจัยในชั้นเรียนด้วยวิธีนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ


วิธีการคิดและขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียน : นางสิริมา กลิ่นกุหลาบ ดำเนินการดังนี้
  1. ปัญหาทางพฤติกรรมของเตย เตย มุมมองที่ครูพบ ผู้สอนศึกษาพฤติกรรมของเตยโดยการสังเกต การบันทึกพฤติกรรม การศึกษาจากประวัติของเตย การสัมภาษณ์ แล้วสรุปสิ่งที่พบเป็นหลายหมวดหมู่ เช่น ด้านครอบครัว ด้านอารมณ์ ด้านการเรียน ด้านนิสัย ด้านความต้องการ ด้านร่างกาย ขอยกตัวอย่างสิ่งที่ครูสรุปจากการสังเกตด้านครอบครัว ด้านอารมณ์ ด้านการเรียน และด้านนิสัยของเตย ดังนี้
    1.1 ด้านครอบครัว อยู่กับยาย ลุงส่งเงินให้เรียนหนังสือ พ่อฟ้องหย่าแม่ พ่อมีภรรยาใหม่ แม่มีสามีใหม่ มีลูก เมื่ออายุได้ 6 ปี แม่เลี้ยงนำไปทิ้งไว้กลางทุ่งนา ยายไปรับมาอยู่ด้วย
    1.2 ด้านอารมณ์ เกลียดพ่อ ใจน้อย เอาแต่ใจตนเอง ท้ารบ ใจร้อน อารมณ์รุนแรง ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไม่ชอบความรุนแรงจากคนอื่น
    1.3 ด้านการเรียน ชอบวิชาสังคมศึกษา ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ เรียนรู้ได้ดีจากการค้นคว้า ทำงานกลุ่มไม่ดี ทำงานเดี่ยวได้ดีมาก สมาธิสั้น ชอบกีฬา
    1.4 ด้านนิสัย ชอบหนีเที่ยวห้างสรรพสินค้า คบเพื่อนผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไม่มีระเบียบไม่อยู่ในกติกา ทำตัวห้าวหาญเหมือนชาย ชอบคบเพื่อนรุ่นน้อง ข่มขู่ หยิบของผู้อื่นโดยพลการ ช่วยงานอาสาดีมาก ช่วยเพื่อนดี
  2. สรุปพฤติกรรมของเตย เตยมีปัญหาด้านพฤติกรรม คือ เป็นคนค่อนข้างก้าวร้าว ชอบทะเลาะกับเพื่อน ทำร้าย แย่งของเพื่อนโดยการกระชากจากมือ ไม่เชื่อฟัง ต่อต้าน ชอบออกคำสั่ง ตะโกนเสียงดัง ชอบขโมย
  3. สาเหตุของปัญหา จากการศึกษาประวัติและพฤติกรรมของเตย ครูสรุปว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาทางบ้าน เพราะถูกทอดทิ้งจากพ่อ แม่ และแม่เลี้ยงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างการบันทึกพฤติกรรมของเตยบางตอน “ ตอนเช้าสังเกตเห็นเตยใส่เสื้อผ้าไม่ถูกต้องตามระเบียบสอบถามได้ความว่าไฟไหม้ห้องพัก ตำรวจยังไม่ให้เข้าไปหยิบสิ่งของจึงไม่มีเสื้อนักเรียนใส่” ครูสิริมา ครูประจำชั้น “หนูเกลียดผู้ชายทั้งโลก พ่อทำให้แม่เจ็บ หนูเกลียดพ่อ” เตย “หนูเกลียดวิชาเลข ครูไม่เข้าใจเด็ก ครูก็รู้ ครูคนอื่นหนูยอมหมดแล้ว แต่ครูเลขหนูรับไม่ได้ เขาน่าจะรู้หนูมีปัญหา ร้องไห้ไป รำพันไป”
  4. การแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา ครูแก้ปัญหาโดยการปรับพฤติกรรมของเตย โดยใช้เทคนิค
    4.1 การหยุดยั้ง เมื่อเตยมีพฤติกรรมก้าวร้าว ขว้างกล่องดินสอในห้อง ครูจ้องมองนิ่ง ๆ เมื่อเตยสงบลง ครูบอกว่าอย่างนี้จะน่ารักกว่ามาก
    4.2 การแก้ไขให้ถูกต้องเกินกว่าที่ทำผิด ครูใช้วิธีปรับพฤติกรรม 2 วิธี คือ 1) ให้เก็บของให้เรียบร้อย หลังจากที่เตยมีอารมณ์ดีขึ้นแล้ว เพราะเตยมีอารมณ์รุนแรงมาก ถ้าสั่งขณะเกิดเหตุจะมีปฏิกริริยาตอบโต้รุนแรงกว่าเติมมาก 2) ให้จัดห้องเรียนให้เรียบร้อย เป็นการลงโทษให้ทำงานเพิ่มขึ้น
    4.3 การทำสัญญากับเตย เมื่อเหตุการณ์สงบลง ครูขอพบเป็นการส่วนตัว ถามสาเหตุของการกระทำที่รุนแรงขว้างปาสิ่งของ จากนั้นขอสัญญาจะไม่ทำอีก
    4.4 ให้ความเป็นกันเอง ความรักความอบอุ่น ดูแล เอาใจใส่ โอบไหล่ พูดคุยด้วย เตยยอมเรียกครูประจำชั้นว่าแม่ เข้ามากอด ครูถือโอกาสอบรม ปลูกฝังความเป็นคนดี มีสติ การใช้เหตุผล
    ตัวอย่างการบันทึกพฤติกรรมของเตยของครูประจำชั้น “ วันนี้เตยมากอด ซบอยู่ ถามว่าแม่ไปไหนเมื่อวานไม่พบเลย" เด็กเปลี่ยนทีท่าอ่อนโยนลง ครูสิริมา ครูประจำชั้น ป. 6/1
  5. ผลของการปรับพฤติกรรม เตยมีความก้าวร้าวลดลง มีเพื่อนมากขึ้น รับผิดชอบงานดีขึ้นระดับหนึ่ง ตั้งใจทำงานให้สำเร็จแต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นหัวหน้ากลุ่ม ชอบทำงานกับนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิง โดยให้เหตุผลกับครูว่าเพื่อนผู้ชายไม่เรื่องมาก แต่พฤติกรรมของเตยที่ดีขึ้นไม่คงทน นาน ๆ ครั้งจะก้าวร้าวอีก ถ้ามีเหตุการณ์กระทบใจ ห้องเรียนสงบขึ้นกว่าเดิมจนสิ้นปีการศึกษา
  6. พฤติกรรมของเตยหลังจากปรับพฤติกรรม และเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
    เลิกเกลียดผู้ชาย มีแฟน
    เล่นกีฬา
    ยิ้มแย้มแจ่มใส
    ไม่ยอมใคร
    ปกป้องเพื่อน
    พบกระเป๋าสตางค์ครูนำไปมอบให้

การเขียนรายงานการวิจัย
ชื่อเรื่อง : รายงานการศึกษาเด็กเป็นรายกรณี เด็กหญิงเตย (จันทรารัตน์) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

หัวข้อการเขียนรายงาน :
  • ปัญหาทางพฤติกรรม เตยมุมมองที่ครูพบ
  • ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม
  • วิธีศึกษา
  • ภาพฉายของเตย (การบันทึกพฤติกรรม คำพูด และการแสดงออกของเตย ที่ครูผู้สอนสังเกตเห็นหรือมีเพื่อนครู หรือเพื่อนของเตยมาเล่าให้ครูฟัง)
  • กระบวนการปรับพฤติกรรม
  • ภาพฉายของเตยหลังการปรับพฤติกรรม
  • ภาพฉายของเตยหลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

บทวิเคราะห์ของผู้เขียน : การศึกษารายกรณีเรื่องนี้ ผู้ทำวิจัยมีการศึกษาข้อมูลของเตยอย่างรอบด้าน แม้แต่ข้อมูลที่เป็นคำบอกเล่าของเพื่อนครู หรือของนักเรียนบางคนที่ใกล้ชิดกับเตยก็จะถูกผู้วิจัยบันทึกไว้ เป็นแบบบันทึกสั้น ๆ ในวันที่ได้รับข้อมูล ซึ่งจากการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบนี่เอง ทำให้ผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์ปัญหาของเตยและแก้ปัญหาให้เตยได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการทำรายงานการวิจัยผู้วิจัยเขียนเป็นรายงานสั้นประมาณ 6 หน้า และนำเสนอเป็นภาพฉายและแผนผังมโนภาพ ทำให้สามารถเปรียบเทียบพฤติกรรมของเตยก่อนการปรับพฤติกรรมและหลังการปรับพฤติกรรมชัดเจนขึ้น

กลับหน้าบ้านครูไผ่       กลับหน้าเดิมกดปุ่ม Back ที่เมนูบาร์       ความรู้ความเห็นเพิ่ม